วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สรุปเนื้อหาบทที่ 1

สรุปเนื้อหาบทที่ 1
เศรษฐศาสตร์  เป็นวิชาที่ศึกษาถึงพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคม เกี่ยวกับการเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด  เพื่อผลิตสินค้าและบริการไปบำบัดความต้องการของมนุษย์อันมีอยู่อย่างไม่จำกัด  เศรษฐศาสตร์ แบ่งออกเป็น 2 แขนง คือเศรษฐศาสตร์จุลภาค เป็นการศึกษาเศรษฐกิจหน่วยย่อย และเศรษฐศาสตร์มหภาค เป็นการศึกษาเศรษฐกิจส่วนรวมทั้ง 2 แขนง มีความสัมพันธ์กัน และมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันนอกจากนี้ เศรษฐศาสตร์ยังมีความสัมพันธ์กับวิชาอื่นๆ เช่น บริหารธุรกิจ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และจิตวิทยา เป็นต้น
          ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์  แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ตามที่เป็นจริง เป็นการศึกษาเพื่อให้รู้ว่าอะไรคืออะไร และทฤฎีเศรษฐศาสตร์ตามที่ควรจะเป็น เป็นการศึกษาเพื่อตัดสินว่าคุณค่าของสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีผลกระทบต่อสังคมอย่างไร
          การศึกษาเศรษฐศาสตร์ มี 2 วิธี คือ วิธีอนุมาน เป็นการศึกษาจากสาเหตุไปหาผล และวิธีอุปมาน เป็นการศึกษาจากผลเพื่อหาสาเหตุ ทุกสังคมในโลกล้วนมีปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีปัจจัยการผลิตจำกัด ทำให้ต้องมีการตัดสินใจว่า จะใช้ปัจจัยการผลิตนั้นไปเพื่อเลือกผลิตอะไร ใช้กรรมวิธีผลิตอย่างไร และจะแบ่งปันสินค้าและบริการที่ผลิตได้ไปให้ใครบ้าง
          เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่มีประโยชน์มาก เพราะเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้ผลิต เจ้าของปัจจัยการผลิต หรือผู้บริโภค
กิจกรรมชวนคิด
          ให้นักเรียนเสนอความคิดเห็นในฐานะผู้บริโภค เพื่อสนับสนุนคำกล่าวที่ว่า "การศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์มีประโยชน์ต่อผู้ศึกษาทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ทั้งในชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงาน"ส่งอาจารย์มีคะแนนให้
แหล่งอ้างอิง
          ให้นักเรียนค้นคว้าข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นเพิ่มเติมได้จากคู่มือเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น